งานวิศวกรเคมี และโอกาสในสายงาน
Engineer Insight
วิศวกรเคมี กับประสบการณ์ในสายงาน
งาน วิศวกรเคมี นั้นค่อนข้างท้าทาย ประสบการณ์นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวนำพาคุณไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ ตัวอย่างเช่น หากงานในช่วง 5 ปีแรกของคุณไปในสายงานด้านการผลิต โอกาสที่จะเติบโตไปยังตำแหน่งที่สูงขึ้นในสายงานนี้ก็จะเพิ่มขึ้น หรือหากงานใน 5 ปีแรกนั้นเกี่ยวกับการขายสารเคมี โอกาสที่จะเติบโตไปในสายงานการขายและบริการลูกค้า เช่น Sales Manager ก็จะสูงขึ้น ดังนั้น การสมัครงานสำหรับวิศวกรเคมีนั้นสำคัญมาก โดยเฉพาะ “งานแรก”
หลายคนที่เป็น วิศวกรเคมีจบใหม่ หรือทำงานไปสัก 3 ปีแล้วยังรู้สึกสับสนอยู่ว่าตัวนั้นเหมาะ หรือชอบสายงานไหนกันแน่ ส่งผลให้ไม่รู้จะ สมัครงาน ตำแหน่งไหน ให้ลองหาโอกาสได้เรียนรู้เกี่ยวกับสายงานอื่นๆ มากขึ้น เช่น อาจจะลองไปสอบถามเพื่อนๆ ที่ทำงานในสายงานนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร แล้วลองเอาข้อมูลมาเปรียบเทียบดูว่าสายงานไหนจะเป็นไปได้สำหรับคุณมากที่สุด เพราะหากเปลี่ยนแบบหน้ามือเป็นหลังมือ อาจจะทำให้เสียเวลาในการเรียนรู้งานใหม่ แต่ถ้าหากคุณคิดว่าคุ้มกับอายุงานที่เหลือ นี่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด
ตัวอย่างรุ่นพี่คนหนึ่ง หลังจากจบวิศวกรรมเคมีก็ได้ไปทำงานเกี่ยวกับด้านความปลอดภัย หรือ HSE (Health, Safety, and Environment) ซึ่งก็ทำในสายนี้มากว่า 8 ปี ย้ายบริษัทไปประมาณ 3 ครั้ง ซึ่งทั้ง 3 บริษัทนั้นเป็นอุตสาหกรรมปิโตรเลียม หลังจากปีที่ 8 ก็ได้ข้อเสนอจากบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ให้ไปเป็น Safety Manager ดูแลเรื่องระบบความปลอดภัยของธุรกิจทั้งหมด.. เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมปิโตรเลียมกับค้าปลีกนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง แต่ด้วยความเป็นผู้เชี่ยวชาญ หรือ “Specialist” นั้นได้พาให้เค้าเติบโตขึ้นในสายงานนี้ ไม่ว่าจุอุตสาหกรรมอะไรก็ตาม
อุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับงานวิศวกรเคมี
อุสาหกรรมที่เป็นที่น่าสนใจของ งานวิศวกรเคมี นั้นส่วนใหญ่จะเป็นอุตสากรรมผลิตสินค้าที่มีความต้องการสูงในตลาดโลก ไม่ว่าจะเป็น พลาสติก กระดาษ น้ำมัน และอีกมากมาย รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่ผลิตวัตถุดิบสำหรับขบวนการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ซึ่งประเภทอุตสาหกรรมที่น่าสนใจสำหรับวิศวกรเคมีมีดังนี้
- ไฟเบอร์ พอลิเมอร์
- อาหาร และเครื่องดื่ม
- พลาสติก และโลหะ
- กระดาษ
- สารเคมี
- ปิโตรเคมี พลังงาน
แต่ก็มี วิศวกรเคมี อีกหลายคนที่เลี่ยงตัวเองออกจากงานด้านอุตสากรรมไปทางด้านให้คำปรึกษา หรือเรียกว่า Consultancy Firm ซึ่งอาจจะให้คำปรึกษาเกี่ยวกับด้านมาตราฐานต่างๆ การตรวจสอบข้อกำหนด หรือ Standard ต่างๆ การลดการใช้พลังงาน ลดต้นทุนการผลิต รวมถึงการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการผลิต การลงทุนในการผลิต
ความสามารถที่วิศวกรเคมีควรมี
แน่นอนว่าวิศวกรเคมีทุกคนควรมีความสามารถในเนื้อหางานอยู่แล้ว หรือเรียกว่า Technical Skills (Hard Skills) แต่ความสามารถที่จะทำให้คุณเติบโตได้นั้นไม่ใช่แต่ Technical Skills แต่มันคือ Soft Skills ดังนี้
- ความสามารถในการแก้ไขปัญหา
- ความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูล
- ทำงานเป็นทีม และมีความเป็นผู้นำ
- มีความคิดริเริ่ม (Initiative Idea)
- ใส่ใจรายละเอียด สำคัญมาก ลองคิดดูว่าหากคุณลืมปิดวาล์วสักตัว ส่งผลให้ขบวนการผลิตระเบิด แล้วถ้ามีปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้น ความรุนแรง และความเสียหายที่เกิดขึ้นจะมากมายขนาดไหน
- การสื่อสารที่ชัดเจน
- มีความสามารถในการนำเสนองาน (Presentation Skills)
หลายๆ คนค่อนข้างต่อต้าน และคิดว่า Soft Skills เป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ซึ่งในสมัยนี้ Soft Skills นั้นถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวที่ทำให้คุณแตกต่างจากคนอื่น และฉายแววความสามารถในการเป็นผู้นำ
วิศวกรเคมี เรียนต่ออะไรดี
การศึกษาต่อสำหรับวิศวกรเคมีนั้นมีหลายกรณี
- ศึกษาด้านวิศวกรรมเคมีต่อ ปริญญาโท และปริญญาเอก สิ่งที่ได้คือคุณจะกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ งานที่เหมาะคืองานให้คำปรึกษา หรืองานที่ดูแลในด้านที่คุณเชี่ยวชาญไปเลย เช่น ผู้เชี่ยวชาญในด้าน Plant Design, Unit Design and Operation, Process Design อีกหนึ่งโอกาสในสายงานก็คือเป็นอาจารย์ หรือนักวิจัย
- ศึกษาปริญญาโทในสาขาอื่น เช่น การเงิน การตลาด เศรษฐศาสตร์ สำหรับข้อนี้คุณต้องมั่นใจแล้วว่าต้องการเปลี่ยนสายงานออกจากด้านวิศวกรรม เช่น ไปเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน ผู้บริการกองทุน ทำงานด้านพัฒนาธุรกิจเป็นต้น
- ศึกษาปริญญาตรีด้านการบริหารและธุรกิจ สำหรับข้อนี้ จะเหมาะกับวิศวกรเคมีที่มีประสบการณ์มาแล้วระยะหนึ่ง แล้วเห็นโอกาสในการขึ้นไปทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้น เช่น ผู้จัดการ หรือผู้บริหาร การเลือกเรียน MBA ก็อาจจะเกิดประโยชน์กับคุณและองค์กร
วิศวกรเคมีที่จบปริญญาตรีแล้วไปเรียนต่อปริญญาโททันทีต้องมั่นใจแล้วว่าจะเป็นทางเลือกที่ถูกต้อง เพราะหากไปต่อเพราะไม่รู้จะทำอะไร ปริญญาโทก็จะไม่ได้ทำให้คุณเติบโตอย่างก้าวกระโดดในสายงาน การก้าวกระโดดในสายงานวิศวกรรมนั้นจะมาจากประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญเป็นหลัก
วิศวกรเคมีส่วนใหญ่ทำงานอะไรกัน?
สำหรับน้องๆ ที่กำลังเรียนอยู่ หรือเป็นวิศวกรเคมีจบใหม่ อาจสงสัยว่า วิศวะเคมี ทํางานอะไร? จากตารางด้านล่างจะเห็นได้ว่ากว่า 50% ของวิศวกรเคมีทำงานในสายงานวิศวกรรมโดยตรง ซึ่ง 36% ของจำนวนนี้ทำงานเป็นวิศวกรการผลิต (Production Engineer) และวิศวกรกระบวนการ (Process Engineer)
ประเภทงาน | สัดส่วน (%) |
---|---|
งานด้านวิศวกรรม | 55.6% |
งานด้านธุรกิจ และการเงิน | 13.3% |
งานด้านธุรกิจค้าปลีก และอาหาร | 7.2% |
งานเกี่ยวกับความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค | 5.1% |
อื่นๆ | 18.8% |
10% ของวิศวกรเคมีที่จบมานั้นยังว่างงาน ในขณะที่ 18% ของวิศวกรเคมีได้ทำการศึกษาต่อในระดับที่สูงแบบเต็มเวลา
สถานะ | สัดส่วน (%) |
---|---|
มีงานทำแล้ว | 65.9% |
ศึกษาต่อ (เต็มเวลา) | 18.3% |
ทำงานและศึกษาต่อไปด้วย | 2.9% |
ว่างงาน | 10% |
อื่นๆ | 2.9% |
ตัวเลขสถิตินั้นอ้างอิงมาจากตลาดงานโดยรวมของประเทศในสหราชอาณาจักร เพื่อให้วิศวกรได้เห็นแนวโน้มของประเทศอื่นๆ
ซึ่งใครจะเรียนต่ออะไรนั้น พี่ๆ ที่ EngineerJob แนะนำให้น้องๆ วิศวกรเคมีจบใหม่ ได้ลองทำงานก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าตัวเองชอบอะไร และไม่ชอบอะไร เพราะหากเลือกเรียนต่อไปเลยทั้งๆ ที่ยังไม่รู้ว่าชอบอะไร อาจจะทำให้เป็นการเสียเวลา และค่าใช้จ่าย ซึ่งสิ่งที่เรียนไปอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองชอบก็เป็นได้
เมื่อพร้อมจะสมัครงานแล้ว อย่างลืมไป ลงทะเบียนสร้างโปรไฟล์ฟรี กับ EngineerJob เพื่อใช้สมัครงานได้ทั้งเว็บไซต์ และยังเป็นการเปิดโอกาสให้งานที่ใช่ตามหาคุณด้วย!