6 วิธีเลือกงาน เมื่อได้งานพร้อมกันหลายที่

การสมัครงาน

6 วิธีเลือกงาน เมื่อได้งานพร้อมกันหลายที่ - EngineerJob Blog

เชื่อได้ว่าเป็นปัญหาที่ใครๆ ก็อยากจะเจอ (happy problem) ได้ข้อเสนอมาพร้อมกันหลายๆ บริษัทเป็นเรื่องที่น่ายินดี นั่นหมายความว่าความสามารถ หรือโปรไฟล์ของคุณนั้นเป็นที่ต้องการในตลาดอยู่พอสมควร

แต่การเลือกระหว่างงาน 2 บริษัทนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตของคุณ เพราะฉนั้นไม่ควรใช้อารมณ์มาเป็นตัวตัดสินใจอย่างเดียว เช่น “บริษัท A เป็น Sponsor รายใหญ่ของประเทศ ไปที่ไหนก็มีแต่โฆษณา แล้วเงินเดือนก็เสนอมาให้สูงกว่าบริษัท B มาก ดังนั้นจึงเลือกบริษัท A…” ลองถอยหลังกลับมาสักนิด คิดช้าๆ แน่นอนว่ามันไม่มีอะไรผิด ไม่มีอะไรถูก แต่อย่างน้อยก็ควรคิดให้ดี และมองจุดหมายในระยะยาว

เลยอยากจะแชร์ขั้นตอนที่พวกเราเคยใช้ตอนที่ได้รับข้อเสนอมาพร้อมๆ กัน 2 บริษัท ลองปรับใช้ดูหากรู้สึกว่าเลือกงานไม่ถูก ตัดสินใจไม่ได้

หาข้อมูลของแต่ละบริษัทให้เยอะที่สุด

บางคนถามว่าจะไปหาข้อมูลมากจากไหน.. ก่อนที่คุณจะได้รับข้อเสนอ อย่างน้อยก็ต้องมีโอกาสเข้าไปสัมภาษณ์แล้วสักครั้ง และนี่คือช่วงที่คุณสามารถถามเกี่ยวกับสิ่งที่คุณอยากรู้..

อย่าดูแต่ตัวเลขเงินเดือน ให้ลองมองภาพใหญ่ๆ ขององค์กรนั้นๆ ด้วยว่าวัฒนธรรมของเค้าเป็นอย่างไร จะสามารถเข้ากับเค้าได้หรือเปล่า สวัสดิการในระยะยาวโอเคไหม หากคุณเพิ่งเริ่มทำงาน และรู้ตัวว่าคุณคงไม่ได้อยู่บริษัทนี้ไปตลอดจนเกษียณ ลองดูว่าถ้าออกกลางคัน คุณจะได้เงินสะสมไหม ได้เท่าไหร่ (แต่อย่าไปถามบริษัทตรงๆ เด็ดขาด ถ้าเค้ารู้ว่าคุณไม่คิดจะอยู่นาน ข้อเสนอนั้นอาจถูกปิดโดยทันที) หากจะอยู่ไปจนเกษียณอายุ แพลนเงินสะสมระยะยาวของบริษัทนั้นๆ เป็นอย่างไรบ้าง

การที่เรารู้รายละเอียดของทั้ง 2 บริษัท เป็นข้อดีที่เราได้สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ในการต่อรองเพื่อประโยชน์สูงสุด

เปรียบเทียบตัวต่อตัว

หลังจากหาข้อมูลของแต่ละบริษัทมาแล้ว ลองเอามาลิสต์เปรียบเทียบกันดูไปเลย

  • เงินเดือน
  • โบนัส
  • สวัสดิการต่างๆ
  • สวัสดิการด้านสุขภาพ
  • เวลาเข้า-ออกงาน
  • เนื้อหางาน ความท้าทาย
  • สิ่งที่จะได้เรียนรู้ในงาน
  • โอกาสในการเติบโต
  • วิสัยทัศน์ (Vision) และ คุณค่า (Core Value) ขององค์กร
  • ภาพลักษณ์องค์กร
  • สถานที่ทำงาน ความสะดวกในการเดินทาง

 อะไรคือสิ่งที่เราต้องการ

ถามตัวเอง และต้องหาคำตอบให้ได้ว่า “สิ่งที่คุณต้องการคืออะไร?” “เป้าหมายในชีวิตของคุณคืออะไร?”  เพราะในบางครั้ง เงินก็ไม่ใช่ตัวตั้งเสมอไป หลายๆ คนเลือกที่จะทำงานบริษัทกลางๆ เงินเดือนกลางๆ แต่ได้ประสบการณ์เยอะ เรียนรู้เยอะ เพื่อนำความรู้นี้เป็นก้าวต่อไปในสายงานของตัวเอง ยิ่งในสายงานวิศวกรรม ประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญ หากคุณเชี่ยวชาญในด้านๆ หนึ่งแล้ว ความเป็น Expertise ก็จะมีมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น

บริษัท A อาจจะมีสวัสดิการดีมาก ครอบคลุมไปถึงครอบครัว แต่เสนอเงินเดือนที่ต่ำกว่า และโบนัสน้อย ในขณะที่บริษัท B สวัสดิการไม่ครอบคลุมครอบครัว แต่โบนัสสูงมาก ซึ่งจริงๆ ทางครอบครัวของคุณเองก็มีสวัสดิการที่ดูแลในด้านนี้อยู่แล้ว สวัสดิการในส่วนนี้ก็อาจไม่ได้จำเป็นสำหรับคุณ

ได้เวลาต่อรอง

เมื่อคุณรู้แล้วว่าส่ิงที่คุณต้องการคืออะไร สมมุติว่าคุณเลือกบริษัท A  เนื่องจากลองเปรียบเทียบดูแล้วตรงกับความต้องการมากที่สุด แต่ข้อเสนอในบ้างเรื่องยังไม่ตรงกับความต้องการหากเทียบกับบริษัท B ก็ลองเข้าไปเจรจากับบริษัท A ดูว่าสามารถปรับอะไรได้บ้างไหม แต่การต่อรองนั้นก็ต้องระวังเพราะถ้าคุณต่อรองในข้อเสนอที่มากเกินไป อาจจะทำให้คุณดูไม่ดี ควรต่อรองในจุดที่คุณรับได้ และเขารับได้เช่นกัน

เชื่อใจตัวเอง ชีวิตตัวเอง เลือกเอง

คุณอาจได้ยินเสียงรอบข้างว่าบริษัทนั้นดีกว่า บริษัทที่คุณจะเลือกไม่ดี.. รับฟังได้ แต่อย่าเชื่อทันที ให้ลองกลับมาหาข้อมูลดูเองก่อนว่าเป็นอย่างนั้นจริงไหม หากเป็นจริง เรารับได้ไหม เพราะสุดท้ายแล้วคนที่เข้าไปทำงานคือตัวคุณเอง และหากคุณเลือกทำจากการที่คนอื่นว่าดี หากเข้าไปไม่ดีจริงอย่างที่เขาว่า จะโทษคนๆ นั้นที่แนะนำคุณก็ไม่ถูก

ทางของคุณ คุณเลือกเอง ใจตัวเองชอบแบบไหนก็ลุยเลย

ปฏิเสธอย่างมีชั้นเชิง

หากได้บริษัทที่ต้องการแล้วก็อย่าเพิ่งดีใจจนเกินไป อย่าลืมอีกบริษัทที่เพิ่งถูกคุณปฏิเสธ ติดต่อไปยังบริษัทนั้นๆ แล้วแจ้งให้ทราบอย่างสุภาพ ขอบคุณโอกาส และข้อเสนอดีๆ จากบริษัทนั้น และเปิดประตูเผื่อไว้ในโอกาสต่อๆ ไป เพราะคุณไม่มีทางรู้ว่าสักวันหนึ่งคุณอาจจะได้ร่วมงานกับบริษัทนั้นๆ อีกก็เป็นได้!


Image Designed by Freepik

Leave a Reply

Required fields are marked *